สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ

 

Øประวัติความเป็นมาของสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ

             สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษก่อตั้งขึ้นในนามของวิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ  ตามประกาศของกระทรวงศึกษาธิการ  ลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2521 ทั้งนี้โดยเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่จะขยายการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (พลศึกษา) ไปยังส่วนภูมิภาค

             การริเริ่มในการจัดตั้งวิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2514 โดยนายดำเกิงสุรการ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษได้ประชุมราษฎร ตำบลเมืองใต้ ตำบลโพธิ์ ตำบลหนองครก เพื่อขอถอนที่ดินสาธารณประโยชน์โนนหนามแท่ง  เพื่อนำมาใช้เป็นที่ตั้งสถานศึกษา ราษฎรทั้งสามตำบลไม่ขัดข้องวันที่  2 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 นายบุญเหลือ แฝงเวียง ศึกษาธิการจังหวัดศรีสะเกษ  ได้บันทึกเสนอนายประมวล รังสีคุต  ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ว่าที่ดินโนนหนามแท่ง      

ที่สงวนไว้ ควรเป็นที่ตั้งวิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ  ผู้ว่าราชการเห็นชอบด้วย จึงเสนอโครงการไปยังกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงศึกษาธิการ ได้ตอบจังหวัดว่าให้จังหวัดสงวนที่ดินโนนหนามแท่ง  เพื่อนำมาใช้พิจารณาสร้างสถานศึกษาระดับสูงต่อไป

             พ.ศ. 2518 นายพิศาล  มูลศาสตร์สาทร  ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นดำเนินการให้ผู้บุกรุกเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินโนนหนามแท่งออกไปจากที่ดิน (เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2504  ศาลฎีกาได้พิจารณาพิพากษาให้ที่ดินโนนหนามแท่งเป็นที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งต่อมาได้ถอนสภาพให้เป็นที่ราชพัสดุสำหรับตั้งวิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ)

             พ.ศ. 2519 นายบุญชง  วีสมหมาย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ ได้ดำเนินการต่อโดยเข้าพบอธิบดีกรมพลศึกษา เพื่อติดต่อประสานงานและยืนยันหลักการที่จะให้มีการตั้งวิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดศรีสะเกษขึ้น จากนั้นได้นำเรื่องเสนอต่อนายกรี รอดคำดี ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ  ซึ่งได้ดำเนินการให้ประชาชนออกจากบริเวณที่ดินโนนหนามแท่ง ต่อมากรมพลศึกษาได้ส่งนายปรีดา รอดโพธิ์ทอง  และนายสุวิทย์ วิสุทธิสิน มาสำรวจที่ดินบริเวณโนนหนามแท่ง ซึ่งทั้งสองท่านให้ความเห็นว่าที่ดินบริเวณดังกล่าว  เหมาะสมที่สุดที่จะตั้งวิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ เพราะมีความสวยงาม

การคมนาคมสะดวกและมีบริเวณ กว้างขวางควรได้รับการพิจารณาสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง

             พ.ศ. 2520 กรมพลศึกษาได้กำหนดแผนการตั้งวิทยาลัยพลศึกษา ในเขตการศึกษา 11 ซึ่งมีจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดศรีสะเกษ

             พ.ศ. 2521กรมพลศึกษาได้ส่งคณะกรรมการมาทำการสำรวจที่ตั้งวิทยาลัยอีกครั้งที่จังหวัดศรีสะเกษ  สุรินทร์และบุรีรัมย์ คณะกรรมการคณะนี้ประกอบด้วย นายสำอาง พ่วงบุตร นายสถิต ตันเกษม และนายพิพิธพร แก้วมุกดา ซึ่งเป็นระยะเดียวกันกับที่จังหวัดศรีสะเกษได้วางแผนดำเนินงานหลายขั้นตอน  กล่าวคือ

             1.  ผู้ว่าราชจังหวัดศรีสะเกษ ทำหนังสือถึงปลัดกระทรวงศึกษาธิการยืนยันให้กระทรวง จัดตั้งวิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ  และต่อมาได้เชิญอธิบดีกรมพลศึกษามาตรวจราชการที่จังหวัดศรีสะเกษ

             2.  นายพิสิทฐ์ บัวแย้ม  ผู้ช่วยศึกษาธิการ จังหวัดศรีสะเกษ ได้เสนอโครงการช่วยเหลือวิทยาลัยในระยะแรก ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ว่าจะช่วยเหลือในเรื่องงบประมาณและบุคลากรในระยะเริ่มแรก ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้เห็นชอบด้วย จึงรายงานไปยังกรมพลศึกษาว่าพร้อมที่จะช่วยเหลือ

             3.  นายสุริยน เกษร อาจารย์ใหญ่พร้อมด้วยคณะครู อาจารย์ใหญ่โรงเรียนรัฐบาลเข้าพบท่านอธิบดีกรมพลศึกษาเพื่อยืนยันเจตนารมณ์ของชาวศรีสะเกษ ว่ามีความต้องการให้ตั้งวิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ

             4. นายวสันต์ ธุลีจันทร์ ศึกษาธิการจังหวัดศรีสะเกษ เสนอข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรค ทางการของจังหวัดศรีสะเกษต่อ คุณหญิงสุภาพ วิเศษสุรการ ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ท่านสนับสนุนและเสนอข้อมูลดังกล่าวผ่านศึกษาธิการเขตการศึกษา 11 (นายสมาน จันทร์มนตรี) และผ่านผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (นายสุภรณ์ ประดับแก้ว) และผู้ตรวจราชการกระทรวงโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นายภิญโญ สาธร) เป็นประธานที่ประชุม

             5. จังหวัดศรีสะเกษได้รับโครงการเปิดวิทยาลัยพลศึกษาเข้าโครงการพัฒนาภาคตะวันออก เฉียงเหนือเป็นอันดับหนึ่งและเป็นโครงการเร่งด่วนต่อสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

             6. บรรดาครู-อาจารย์พลศึกษาในจังหวัดศรีสะเกษ โดยเฉพาะ นายพิสิษฐ์ หวังเป็น,  นายวิเชียร วิชัย ฯลฯ ต่างก็เป็นกำลังสนับสนุนด้านการติดต่อประสานงานมาโดยตลอด         

             7. ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ (นายกรี รอดคำดี) ได้เดินทางไปพบท่านอธิบดีกรมพลศึกษาและได้รับการยืนยันเป็นที่น่าพอใจ จึงเสนอขอตั้งงบประมาณจากสภาจังหวัดในระยะแรก  เป็นเงิน 100,000 บาท และได้รับอนุมัติเป็นเอกฉันท์  วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ  ได้เปิดทำการสอนตั้งแต่ ปีการศึกษา 2521 เป็นต้นมา โดยกรมพลศึกษาได้แต่งตั้ง นายดุสิต เดชภิมล ผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดมหาสารคามปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการวิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดศรีสะเกษคนแรก

             การดำเนินงานการเรียนการสอนระยะเริ่มแรก ใช้สถานที่เรียนชั่วคราวที่อาคารเรียนของ โรงเรียนการช่างศรีสะเกษ  ต่อมาเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2523 วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ จึงได้ย้ายที่ทำการจากโรงเรียนการช่างศรีสะเกษมายังที่ทำการที่ใหม่บริเวณโนนหนามแท่ง ตำบลโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมด 363 ไร่ อันเป็นที่ตั้งถาวรจนถึงปัจจุบัน

             ปีการศึกษา 2532 วิทยาลัยศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ  ได้รับอนุมัติจากกรมพลศึกษาให้เปิดทำการสอนนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาการชั้นสูง (วิชาเอกการรักษาความปลอดภัยและพลศึกษา) และระดับปริญญาตรี หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต (โปรแกรมวิชาการฝึกและการจัดการกีฬา)  ตามโครงการสมทบระหว่างวิทยาลัยครูสุรินทร์กับวิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ พ.ศ. 2536  ได้รับอนุมัติให้เปิดสอนนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (วิชาเอกสุขศึกษา)

             ปีการศึกษา 2538  วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ได้รับอนุมัติจากกรมพลศึกษาและสภาการฝึกหัดครู ได้เปิดทำการสอนนักศึกษาระดับปริญญาตรีอีกหนึ่งสาขา คือ หลักสูตรวิทยาศาสตร์สุขภาพ  (โปรแกรมวิชาการส่งเสริมสุขภาพเด็ก)  ให้เป็นโครงการสมทบระหว่างวิทยาลัยครูสุรินทร์กับวิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ และในปีเดียวกันนี้กรมพลศึกษาได้มอบหมายให้วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดศรีสะเกษจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนห้วยน้ำคำ ในวิทยาลัยพลศึกษาเปิดทำการสอนในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.การจัดการธุรกิจว่ายน้ำ  การจัดการธุรกิจเทนนิส  การบริการศูนย์สุขภาพ  คอมพิวเตอร์และการบริหารธุรกิจ)

             เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2548 วิทยาลัยพลศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ได้รับโปรดเกล้าฯ  จากองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ตั้งให้เป็นสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตศรีสะเกษ  และเปิดรับสมัครนักศึกษาระดับปริญญาตรีปีการศึกษา 2548 ใน 3 คณะ 14 สาขา คือ

             1.  คณะศึกษาศาสตร์ หลักสูตร 5 ปี มี 4 สาขาวิชา คือ

                 1.1  สาขาวิชาพลศึกษา โปรแกรมวิชาพลศึกษา

                 1.สาขาวิชาพลศึกษา โปรแกรมวิชาพลศึกษาสำหรับคนพิการ

                 1.สาขาวิชาสุขศึกษา โปรแกรมวิชาสุขศึกษา

                 1.สาขาวิชานันทนาการ โปรแกรมวิชานันทนาการ

             2.  คณะวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ หลักสูตร 4 ปี มี 5 สาขาวิชา คือ

                 2.1  สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา  โปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา

                 2.สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา  โปรแกรมวิชาการฝึกสอนกีฬา

                 2.3  สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ  โปรแกรมวิชาการส่งเสริมสุขภาพ

                 2.4  สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ  โปรแกรมวิชาการส่งเสริมสุขภาพเด็ก

                 2.5  สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ  โปรแกรมวิชาการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ

             3.  คณะศิลปศาสตร์ หลักสูตร 4 ปี มี 5 สาขาวิชา คือ

                 3.1  สาขาวิชานิเทศศาสตร์  โปรแกรมวิชาสื่อสารการกีฬา

                 3.2  สาขาวิชาธุรกิจ  โปรแกรมวิชาธุรกิจสุขภาพ

                 3.3  สาขาวิชาธุรกิจ  โปรแกรมวิชาการจัดการกีฬา

                 3.4  สาขาวิชานันทนาการ  โปรแกรมวิชาผู้นำนันทนาการ

                 3.5  สาขาวิชานันทนาการ  โปรแกรมวิชานันทนาการเชิงพาณิชย์และการท่องเที่ยว

Share

Leave your comments

0
terms and condition.
  • No comments found

ประชาสัมพันธ์

0030051